เงินเข้ากระเป๋าใคร

44 สัปดาห์ ที่แล้ว - คนดู 202
รูปภาพ เงินเข้ากระเป๋าใคร

🌹🌹 เงินเข้ากระเป๋าใคร 🌹🌹

ระหว่างนี้ นายห้างหม่าภูมิใจเป็นหนักหนา โดยเฉพาะเวลาเดินตามร้านหนังสือกับเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันจะเห็นหนังสือใหม่ที่ตัวเองจัดพิมพ์ วางในตำแหน่งสะดุดตาที่สุด แม้แต่พนักงานขายของร้านหนังสือยังบอกกับนายห้างหม่าว่า

"หนังสือใหม่ของคุณเล่มนี้ขายดีจริงๆ"

"คุณหม่ารวยแล้ว" เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันแสดงความยินดีต่อเขา

"เปล่าดอก" นายห้างหม่าถ่อมตน "ได้กำไรไม่เท่าไหร่"

นายห้างหม่าได้กำไรไม่เท่าไหร่จริงๆ เขามักแปลกใจ ใครต่อใครบอกว่าหนังสือเล่มนี้ขายดี จำนวนพิมพ์ของหนังสือเล่มนี้ ก็ไม่มากกว่าหนังสือที่ขายไม่ดี ทำไมถึงไม่ได้กำไร?

อยู่มาวันหนึ่ง นายห้างหม่าไปร่วมงานเลี้ยง พอดีผ่านโกดังเก็บหนังสือของเขา ปกติเขาไม่ใคร่ย่างกรายเข้าไป ครั้งนี้ลองแวะเข้าไปดู

ในโกดังสุมหนังสือซ้อนขึ้นไปราวกับภูเขาเลากา แม้แต่นายห้างหม่ายังตกใจ

"นึกไม่ถึงจริงๆ มีสินค้าตกค้างมากถึงเพียงนี้" นายห้างหม่าเดินถึงหน้ากองหนังสือขายดีเล่มนั้น เห็นหนังสือเรียงซ้อนขึ้นไปชนหลังคา นายห้างหม่านับดูแล้วต้องสั่นหัว "แปลกจริง บัญชีโกดังลงว่า 4,000 เล่ม ทำไมมีหนังสือถึง 6,000 เล่ม หรือว่าลงบัญชีผิด ไม่อย่างนั้นทางโรงพิมพ์ก็พิมพ์ผิด พิมพ์เกินจำนวน"


🌹🌹 หมายเหตุ 🌹🌹

เรื่องสั้นๆนี้คุณดูเข้าใจไหม?

ค่อยๆนึกดูว่า เงื่อนงำอยู่ตรงไหน? ทำไมจำนวนหนังสือในโกดังนายห้างหม่า จึงมากกว่าจำนวนที่นายห้างหม่าสั่งพิมพ์?

นายห้างหม่าสั่งพิมพ์หนังสือเพียง 4,000 เล่ม และจ่ายค่ากระดาษ ค่าพิมพ์กับค่าเข้าเล่มของ 4,000 เล่ม อยู่ดีๆทำไมได้เพิ่มมา 2,000 เล่ม?

หนังสือ 2,000 เล่มนั้น นายห้างหม่าไม่ได้จ่ายเงินให้ เป็นใครออกเงินจัดพิมพ์?

แต่ถ้าลองนึกต่อไป อีกหน่อยหนังสือในโกดังทั้ง 6,000 เล่มนี้ขายหมด บัญชีของนายห้างหม่าจะลงว่า รับค่าหนังสือ 4,000 เล่ม หรือว่ารับค่าหนังสือ 6,000 เล่ม?

ถ้าหากมีรายรับแค่ 4,000 เล่ม รายรับของหนังสืออีก 2,000 เล่มไปไหน?

คุณเริ่มเข้าใจแล้วกระมัง?

พวกเราเกือบจะแน่ใจได้ว่า นายห้างหม่าคนนี้ย่อหย่อนเรื่องการจัดการ ไม่ได้ติดต่อกับร้านกระดาษ โรงพิมพ์ ตลอดจนฝ่ายจัดจำหน่ายอย่างถี่ถ้วน

ไม่อย่างนั้นนายห้างหม่าคงมอบต้นฉบับให้โรงพิมพ์โรงหนึ่ง บอกว่า "พวกคุณช่วยสั่งกระดาษ ทำเพลท จัดพิมพ์ เข้าเล่ม เสร็จแล้วส่งบิลมา ผมจะได้ไม่ต้องไปติดต่อทีละแห่ง"

คุณพระช่วย โลกนี้มีนักธุรกิจกี่คนที่มักง่ายถึงเพียงนี้? หรือไม่รู้ว่านี่เป็นความเสี่ยงที่สุด ได้ไม่เท่ากับเสียที่สุด?

เขาทำไมช่วยคุณหาโรงพิมพ์ เขาไม่หักค่านายหน้าและส่วนลดหย่อนหรือ? เพราะฉะนั้นคุณต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก

ที่น่ากลัวกว่านี้คือ เมื่อหนังสือของคุณขายดีคุณสั่งพิมพ์ 4,000 เล่ม เขาพิมพ์ 6,000 เล่ม หนังสือส่วนเกิน 2,000 เล่มออกทางประตูหลัง คุณรู้ได้หรือ?

ที่ร้ายกว่านี้คือ นายห้างหม่ายังเจอเหตุการณ์ที่พนักงานบริษัทสมคบคิดกับผู้รับจัดจำหน่าย รับหนังสือที่พิมพ์เกินมา 2,000 เล่มเข้าโกดังของนายห้างหม่า เมื่อผู้จัดจำหน่ายไปรับหนังสือ สมมุติว่ารับ 400 เล่ม ในบิลออกของเขียนว่า 400 เล่ม ความจริงรับไป 600 เล่ม หลังจากรับหนังสือ 10 เที่ยว หนังสือที่ลงบัญชีไว้ 4,000 เล่มขายหมด ความจริงขายได้ 6,000 เล่ม นายห้างหม่ารู้ได้หรือ? นายห้างหม่าไม่เพียงถูกคนขโมยพิมพ์ ซ้ำยังยกโกดังให้อีกฝ่ายหนึ่งซ่อนของโจรไว้

จากตัวอย่างนี้ คุณควรรู้ว่า

วิธีที่มักง่าย ปล่อยให้คนอื่นรับเหมาไป เป็นเรื่องไม่ฉลาดอย่างมาก เพราะว่าทั้งแพง และทั้งเสี่ยง

แต่ถ้าคุณบอกว่า "ผมเป็นมือใหม่ ไม่รู้ว่าทำไงดีได้แต่มอบให้ฝ่ายหนึ่งรับไป จะสะดวกที่สุด"

ถ้าอย่างนั้นผมขอเสนอให้คุณทดลองดึงขั้นตอนการผลิตอย่างหนึ่ง ให้อีกร้านหนึ่งรับไป ยกตัวอย่างพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง เนื้อใน ทำเพลท จัดพิมพ์ เข้าเล่ม มอบให้ร้านหนึ่งรับผิดชอบ แต่ว่าหน้าปกเปลี่ยนเป็นให้อีกร้านหนึ่งจัดพิมพ์ ขอเพียงคุณควบคุมจำนวนพิมพ์ของหน้าปกก็พอ ต่อให้มีคนแอบพิมพ์ขึ้นมาอีก 2,000 เล่มก็ไม่มีหน้าปกให้ปิด

แน่นอน คุณสามารถสั่งพิมพ์กระดาษลวดลายคั่นอยู่ระหว่างหน้าปกกับหน้าใน หรือว่าพิมพ์ฉลากพิเศษอยู่ในหนังสือ

ถ้าหากเป็นการสั่งทำเสื้อผ้า คุณสามารถสั่งกระดุมพิเศษจากต่างประเทศ ขอเพียงแต่คุณ ควบคุมได้ว่าคนอื่นลอกเลียนกระดุมแบบเดียวกันไม่ได้ ก็สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่สินค้าของแท้ผิดกฎหมาย ถูกส่งออกจากมือโรงงานผลิต

สรุปแล้ว วิธีที่ฉลาดที่สุดคือ แบ่งงานให้โรงงานต่างๆ และติดต่อกับคุณโดยตรง ไม่ให้พวกเขามีโอกาสเชื่อมถึงกัน นี่ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งของแนวนโยบาย "เผชิญหน้า"


☘☘☘☘☘☘☘☘☘☘☘☘☘ โคตรโกง ☘☘☘☘☘☘☘☘☘☘☘☘☘