[ใหม่] คุณผ่องพรรณ ปาละพงศ์ ยอดหญิงนักบริหารภาคเอกชนดีเด่นและคนดีศรีลำพูนประจำปี2555

669 สัปดาห์ ที่แล้ว - เชียงใหม่ - คนดู 232
  • คุณผ่องพรรณ  ปาละพงศ์ ยอดหญิงนักบริหารภาคเอกชนดีเด่นและคนดีศรีลำพูนประจำปี2555 รูปที่ 1
รายละเอียด


ผึ้งน้อย เบเกอรี่ บินไกลถึงเมืองกรุง
" ผึ้งน้อย เบเกอรี่"ถ้าเอ่ยชื่อนี้ในกรุงเทพฯ หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู หรือไม่รู้จัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อนี้ในภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ เป็นที่รู้จัก คุ้นเคย และหลายคนเป็นลูกค้าประจำ เหมือนกับที่คนกรุงเทพฯรู้จักเอสแอนด์พี กาโตว์ ยามาซากิ และอีกหลายๆแบรนด์ เพราะผึ้งน้อย เบเกอรี่เป็นหนึ่งในแบรนด์ช้างเผือกแห่งล้านนา ที่สามารถยืนหยัดและเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสาขาครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ หลายคนถามว่า มากขนาดไหน เอาเป็นว่า ถ้าได้เข้าห้างเป็นได้เจอร้านผึ้งน้อย เบเกอรี่ และในวันนี้ผึ้งน้อยจากถิ่นล้านนา บินไกลมาเปิดร้านถึงเมืองกรุงแล้ว ผู้ที่จะมาบอกกล่าวถึงเส้นทางบินของผึ้งน้อย เบเกอรี่ จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากเจ้าของผู้ก่อตั้ง "ผ่องพรรณ ปาละพงศ์" ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด



จากแม่บ้านสู่เจ้าของธุรกิจ



กว่าจะถึงวันนี้ของผึ้งน้อย เบเกอรี่ ผ่องพรรณ ปาละพงศ์ ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ผึ้งน้อย เบเกอรี่ เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นคงไม่ต่างจากอีกหลายๆคน โดยเฉพาะแม่บ้านของข้าราชการที่ต้องย้ายที่อยู่ตามสามีไปเรื่อยๆ และต้องการหาอาชีพเสริมเพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว ทำมาสารพัด โดยเฉพาะตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งมองเผินๆก็น่าจะดี แต่กลุ่มลูกค้าค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ ทำให้ฐานลูกค้ามีจำกัด จึงต้องมองหาช่องหาอื่นเพิ่มรายได้

"ด้วยความรู้เรื่องการบ้านการเรือนที่เรียนจบการช่างสตรีที่ลำพูน ทำให้พอมีความรู้ด้านทำขนม จึงตัดสินใจทำขนมขาย เริ่มต้นจากเอแคร์หัวเป็ด"

นี่คือ จุดเริ่มต้นของผึ้งน้อยเบเกอรี่ ตอนนั้นผ่องพรรณติดตามสามีไปอยู่ที่พิษณุโลก ทำแล้วนำไปฝากขาย ตามสถานีรถไฟ จนเริ่มเป็นที่รู้จักถึงความเอร็ดอร่อย ก็มีคนมาติดต่อขอซื้อไปขายในห้างท็อปแลนด์ พิษณุโลก หลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่แพร่ และสุดท้ายมาปักหลักที่เชียงใหม่ แต่ก็ยังทำขนมขายเรื่อยมา

หลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ เริ่มต้นด้วยการทำส่ง ส.การค้า ตันตราภัณฑ์ สีสวน จนกระทั่งปี 2534 ลูกสาวเรียนจบ(รัตนา ปาละพงศ์ ปัจจุบันเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการผลักดันธุรกิจ) ประกอบกับห้างใหญ่จะเปิด คือ ตันตราภัณฑ์ แอร์พอร์ต พลาซ่า(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต) ซึ่งถือว่าเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญของธุรกิจ เมื่อฝ่ายการตลาดของตันตราภัณฑ์มาถามว่า "เราไม่คิดจะโตบ้างหรือ" พร้อมกับย้ำว่า ควรจะโตได้แล้ว

"ตอนนั้นเรายังรู้สึกว่า อยากจะทำขนมส่งต่อไปเรื่อยๆ ไม่กล้าเปิดร้านเอง เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่เค้าก็บอกว่าโตได้แล้ว ประจวบเหมาะกับได้รับการสนับสนุนจากแบงก์กรุงเทพ"

ผ่องพรรณ กล่าวถึงก้าวย่างสำคัญทางธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาของร้านผึ้งน้อย เบเกอรี่ แห่งแรกที่ห้างตันตราภัณฑ์ แอร์พอร์ต พลาซ่า และ

สามารถกล่าวได้ว่า เป็นร้านแรกของผึ้งน้อย เบเกอรี่ แม้ว่า ก่อนหน้าที่จะมีร้านผึ้งน้อย เบเกอรี่ที่ริมปิง โชตนา แต่ร้านนั้นไม่ได้บริหารเอง ต่างจากที่ตันตราภัณฑ์ ที่เช่าพื้นที่เอง บริหารเองทั้งหมด

จุดที่ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าได้ คือ ตอนนั้นเบเกอรี่ในเชียงใหม่ ยังไม่มีใครทำแบบบริการตัวเอง แบบหยิบเอง คีบเอง ยังมีใครทำในห้าง ทำให้ได้รับการตอบรับอย่างดี และนำมาสู่การขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีทั้งสิ้น 25 สาขา ยังไม่รวมตัวแทนจำหน่าย มีพื้นที่ขายครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและขยายสู่ภาคเหนือตอนล่าง มีขายในทุกห้างยกเว้นแม็คโคร

"ช่วงที่มีการขยายสาขาเยอะจริงๆ คือ ช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ที่โตเร็วจริงๆ คือ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ของเราโตแบบปากต่อปาก"

ร้านผึ้งน้อย เบเกอรี่ ร้านล่าสุดที่เปิด คือ เซียร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา และถือเป็นครั้งแรกที่ออกนอกพื้นที่ภาคเหนือ ลงมาเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ผลที่ตามมา คือ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และจะมีการเปิดร้านที่ 2 ในเมืองกรุงตามมาเร็วๆนี้



เปิดกลยุทธ์การสร้างแบรนด์



เมื่อถูกถามถึงที่มาของแบรนด์ผึ้งน้อย เบเกอรี่ ที่ใช้มาตั้งแต่ยังไม่มีร้านเป็นของตัวเอง ผ่องพรรณ เล่าว่า มาจากหนังการ์ตูนเรื่องผึ้งน้อยพเนจร ซึ่งมีส่วนคล้ายกับชีวิตครอบครัวของตน กว่าจะหาที่สร้างรังได้ ก็ต้องใช้เวลานาน ต้องย้ายไปเรื่อยๆ และที่สำคัญผึ้งมีลักษณะนิสัยที่ดี คือ ขยันทำกิน ไม่บินสูงนัก ฉลาดสะสม นิยมสามัคคี ซึ่งคุณสมบัตินี้เองได้ถูกนำมาถ่ายทอดให้พนักงานรุ่นแล้วรุ่นเล่านำไปเป็น แบบอย่างในการดำรงชีวิต

"ที่มาของโลโก มาจากร้านสติกเกอร์ที่อยู่ข้างบ้านเช่า(ในตอนนั้น)ที่เชียงใหม่เป็นคนทำให้ เขาถามว่า ทำขนมขายมาตั้งนานไม่มีโลโกบ้างเหรอ ก็เลยทำให้ และเราก็ใช้โลโกนี้มาตลอด"ผ่องพรรณเล่าถึงที่มาของโลโก

สำหรับกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของผึ้งน้อย เบเกอรี่ มีสูตรสำเร็จคล้ายกับอีกหลายแบรนด์ดังในภูธร คือ ลูกค้าบอกต่อๆกันไป โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น ที่ไม่มีการใช้สื่อโฆษณาใดๆทั้งสิ้น ส่วนการใช้สื่อโฆษณาเพิ่งมีบ้างในช่วงหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นนิตยสาร เคเบิลทีวีท้องถิ่น และจากการที่มีสื่อต่างๆมาสัมภาษณ์นำไปลง

สิ่งที่ทำให้สามารถมีที่ยืนท่ามกลางการแข่งขันที่ถือได้ว่า มากธุรกิจหนึ่ง เนื่องจากมีแบรนด์ดังจากกรุงเทพฯขึ้นมาเปิดร้านที่ชียงใหม่และภาคเหนือจำนวน มาก

คือ การรักษามาตรฐาน เพื่อดึงไม่ให้ลูกค้าไปลองของใหม่แล้วไปลับ จึงต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา ต้องคอยติดตามและศึกษาตลาดว่า ช่วงนี้คนกำลังฮิตอะไร และทำออกมาตอบสนองความต้องการของตลาด จนกลายเป็นว่า ผึ้งน้อย เบเกอรี่ เป็นผู้นำตลาด จะมีอะไรใหม่ๆออกมาทุกเทศกาล จนกลายเป็นว่าเมื่อถึงเทศกาล ใครที่ต้องการอะไรใหม่ๆก็ต้องมาที่ผึ้งน้อย เบเกอรี่

"ลูกค้ามักมาถามเราว่า ช่วงนี้มีอะไรออกใหม่บ้าง จนกลายเป็นโจทย์ให้เราต้องพัฒนาตลอด แต่ก็ต้องหยุดพักบ้าง คอยดูว่า มีคนทำตามบ้างหรือยัง ถ้ามี เราก็เริ่มขยับหนี เพราะถ้าเราวิ่งตลอดก็เหนื่อย คือ คอยดูว่า เขาตามเราทันหรือยัง ถ้าเริ่มเข้าใกล้ เราก็ขยับหนีออกไปอีกหน่อย"



เพิ่มมูลค่าด้วยการแตกแบรนด์



เมื่อธุรกิจดำเนินการมาได้จุดหนึ่ง ประกอบกับตลาดของผึ้งน้อย เบเกอรี่ ก็มีข้อจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่สามารถทำอะไรที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกระดับ จะทำอะไรที่ต่างไปมากๆ คนก็จะไม่ยอมรับ มองว่า ไม่ใช่ผึ้งน้อย แม้จะทำขนมเกรดเอยังไง คนก็จะบอกว่า ผึ้งน้อยต้องราคานี้ จึงต้องแตกแบรนด์เพิ่มขึ้นมาอีกแบรนด์หนึ่ง คือ เบบี้ บี(BABY BEE) เพื่อทำขนมออกมาตอบสนองความต้องการของอีกตลาดหนึ่ง และล่าสุดหลังจากที่ลูกสาวคนเล็กสำเร็จหลักสูตรทำขนมอบมาจากประเทศญี่ปุ่น ก็มีการออกแบรนด์เพิ่มอีกแบรนด์หนึ่ง ซึ่งแยกขาดจากผึ้งน้อยและเบบี้ บี ไปเลย คือ มองบลังค์(Mont Blanc) เพื่อจับตลาดบน

ผ่องพรรณ กล่าวถึงคีย์ซักเซสที่ทำให้ผึ้งน้อย เบเกอรี่มาถึงจุดนี้ได้ คือ เรื่องราคาและความหลากหลาย ดังสโลแกนที่ว่า "หลากหลายความอร่อยที่คุณเลือกได้" มีเงินเพียงแค่บาทเดียวก็สามารถซื้อได้แล้ว และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ มาตรฐาน แม้ต้นทุนวัตถุดิบจะปรับขึ้นมากแค่ไหน เราก็ยังคงยืนมาตรฐานสินค้าไว้เหมือนเดิม ไม่มีการลดในเรื่องของคุณภาพ เราคิดอยู่ตลอดว่า "จะต้องทำคุณภาพสินค้าให้คุ้มกับราคาที่ลูกค้าจ่ายให้กับเรา"

ถึงวันนี้เป้าหมายต่อไปของผึ้งน้อย เบเกอรี่ คือ พัฒนาตลาดภาคเหนือตอนล่างให้เข้มแข็งเหมือนภาคเหนือตอนบน โดยจะมีการสร้างฐานการผลิตอีกแห่งหนึ่งที่พิษณุโลก เพื่อป้อนตลาดภาคเหนือตอนล่าง ส่วนตลาดกรุงเทพฯเมื่อลงมาแล้ว ก็คงต้องมีก้าวที่สอง ก้าวที่สามต่อไป